บริหารแบบ Microกับ Macro management เลือกใช้ให้เป็นเห็นความสำเร็จ
องค์กรจะพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ฟันเฟืองสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือการมีทีมเวิร์คที่ดี ซึ่งการจะมีทีมเวิร์คที่ดีได้นั้น แม่ทัพหรือผู้บริหารที่ชาญฉลาดถือมีส่วนสำคัญที่จะพาทีมพิชิตเป้าหมายได้ ถ้าหัวเรือดี ทิศทางการแล่นเรือเพื่อไปถึงฝั่งเป้าหมายย่อมดีตาม ดังนั้นบทความนี้จะนำคุณผู้อ่าน เติมความรู้กับการบริหารงาน แบบ Micro กับ Macro management จะเป็นอย่างไรนั้นมาดูกันเลยค่ะ
แบบที่ 1 Micromanagement หรือเรียกว่า “การบริหารจุลภาค” เป็นรูปแบบการจัดการที่คอยสังเกตพฤติกรรมการทำงานของพนักงานในทีมอย่างใกล้ชิด ว่ากันไปแล้วบรรยากาศของการทำงานแบบนี้จะเหมือนมีคนคอยจ้องจับผิด ถือเป็นบรรยากาศที่ไม่ดีนักในสถานที่ทำงาน พนักงานอาจจะรู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอเลยไม่ได้รับความไว้วางใจ พนักงานมักจะทำงานตามคำสั่งเหมือนหุ่นยนต์ ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีความคิดที่จะพัฒนาองค์กร เพราะไม่รู้สึกถึง “ความเป็นเจ้าขององค์กร” ส่งผลให้การเติบโตขององค์กรช้าลง
ผู้บริหารที่เลือกใช้แนวการบริหารแบบ micro management มักไม่ไว้วางใจพนักงานที่ตนเองจ้างมา ดังนั้น จึงทำให้การบริหารเป็นไปในลักษณะควบคุมอำนาจ การตัดสินใจทุกอย่างไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องผ่านตนเองเท่านั้น
แบบที่ 2 Macro management หรือเรียกว่า “การบริหารแบบมหภาค” เป็นการบริหารแบบตะวันตก รูปแบบมักจะตรงกันข้ามกับ Micro management คือ ไม่มีการดูแลลูกทีม ปล่อยให้คิดเอง ไม่ให้คำปรึกษาเมื่อลูกทีมถึงทางตันของปัญหา ซึ่งอาจทำให้ผลการทำงานขาดประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์
Micro management = ตีกรอบ ทุกมุม ครอบคลุมทั้งองค์กร = ไม่ดี
Macro management = ไร้กรอบ มอบอิสระ เดินสะเปะสะปะไร้แนวทาง = ไม่ดี
แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ?
เคล็ดลับง่าย ๆ คือการก้าวเข้ามาระหว่างรูปแบบการจัดการเหล่านี้ คนทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะดึงความสามารถที่โดดเด่นของพนักงานแต่ละคนออกมาใช้ และรักษาพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้ให้ทำงานร่วมกับองค์กรของคุณได้ในระยะยาว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทของคุณเติบโตทางธุรกิจไปได้
ส่วนที่ดีของ Micro management
เลือกเป้าหมายระดับสูง : คุณรู้ว่าเป้าหมายหลักสูงสุดของคุณคืออะไร จงมุ่งมั่นที่จะเดินไปให้ถึงแต่ขณะเดียวกันอย่ามองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อควบคุมรักษาประสิทธิภาพในการทำงานของทีมให้อยู่ในระดับสูง
ให้คำแนะนำและสนับสนุน : คุณควรมีความพร้อมให้คำแนะนำและสนับสนุนพนักงานในความดูแลของคุณอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรจากการลองผิดลองถูกของพวกเขา
มีส่วนร่วมคัดสรรทีม : เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องตัดสินใจเลือกตำแหน่งงานสำคัญของพนักงานใหม่เข้ามาร่วมงานร่วมกับทีมของคุณ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งนั้นด้วย แต่ไม่ได้หมายถึงว่าการสัมภาษณ์ทุกครั้งต้องผ่านการตัดสินใจของคุณ
เรียกประชุมย่อยคอย update : กำหนดเวลาที่เหมาะสมเพื่อรับการ update สถานะจากทีมของคุณ อาจจะเป็นทุกสัปดาห์ บางครั้งอาจเป็นช่วงเวลาที่ลูกทีมของคุณต้องการคำปรึกษาอยู่ก็เป็นได้
จัดลำดับความสำคัญของงาน : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณตั้งลำดับความสำคัญในความสำเร็จของงานอย่างเหมาะสมแล้ว เพราะในการบริหารงานระดับสูงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดและปฏิบัติการ หากแต่คุณต้องวางแผนสร้างกลยุทธ์ในการบริหารเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนที่ดีของ Macro management
ใช้คนให้เหมากับงาน : คุณควรดูความสามารถที่โดดเด่นของพนักงานแต่ละคนและพิจารณาว่าคุณใช้ความสามารถของพนักงานเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้หรือไม่
แนะนำย้ำด้วยการสนับสนุน : มุ่งเน้นการให้การสนับสนุนและข้อเสนอแนะที่สมาชิกในทีมของคุณต้องประสบความสำเร็จในเส้นทางเหล่านั้น
วางแผนเป้าหมายระยะยาว : กำหนดเป้าหมายระยะยาวให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น วางแผนอีก 6 เดือน , อีก 12 เดือน หรืออีก 5 ปี องค์กรของเราจะมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและเราจะเติบโตไปด้วยกัน และยังเป็นการแสดงถึงความมั่นคงและจริงใจที่บริษัทจะมอบให้พวกเขา
คนที่จ้างคือคนที่ใช่หรือไม่ : ตรวจสอบให้แน่ใจอยู่เสมอว่าคนที่คุณจ้างมาคือคนที่ใช่สำหรับตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องการให้มาเติมเต็มและพาองค์กรให้เติบโตหรือไม่
ส่งเสริมเพิ่มเติมทักษะความรู้ : ต่อเนื่องจากหัวข้อด้านบน หากคุณตรวจสอบแล้วว่าคนที่คุณจ้างมายังควรได้รับการเพิ่มเติมความรู้เพื่อนำมาพัฒนาองค์กรได้ คุณควรให้การฝึกอบรมและการศึกษาแก่พนักงานของคุณเพื่อให้ประสบความสำเร็จในบทบาทของพวกเขา
หากคุณเป็นผู้บริหาร ควรจำไว้ว่า หน้าที่หลักของคุณคือการนำพาองค์กรให้เติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในเมื่อคุณไม่สามารถโคลนนิ่งตัวคุณเองขึ้นมาทำงานทุกอย่างได้ ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดคือคุณจำเป็นต้องใช้ทักษะที่คุณมีในการควบคุมดูแลพนักงานได้อย่างมีศักยภาพและคุณยังต้องมั่นใจด้วยว่าคุณบริหารเวลาของคุณอย่างชาญฉลาดแล้ว
“ความสามารถที่สูงส่งในตัวผู้บริหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะพาองค์กรไปถึงเป้าหมายความสำเร็จได้ หากแต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมักมาจากผู้บริหารที่ฉลาดในการเลือกใช้คนและบริหารเวลาอย่างชาญฉลาดต่างหากจึงจะเป็นกุญแจสำคัญในการพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ”