เบื้องหลังของ “คนสำเร็จ” อยู่ที่ input และ Output
เบื้องหลังของความสำเร็จล้วนเกิดจากการที่เรา “เลือกใส่” สิ่งที่รับรู้ในแต่ละวันเข้าไปทั้งนั้น ยกตัวอย่าง อาชีพ "นักเขียน" ต้องเริ่มจากการเป็น "นักอ่าน" ก่อน นักอ่านก็เปรียบเสมือน Input ที่เพิ่มข้อมูลและการรับรู้ให้กับสมองด้วยการอ่านเพิ่มเติมความรู้เข้าไป สะสมคลังสมอง คลังความรู้เพื่อเตรียมคลังข้อมูลในการกลั่นตัวหนังสือออกมา เมื่อเข้าสู่การเป็นนักเขียน เพื่อทำการ Output เขียนสรุปรวบรวมข้อมูลที่รับรู้ที่สั่งสมกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ว่าจะผ่านจากการอ่าน การฟัง หรือประสบการณ์ส่วนตัวออกมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึง ถ้าคุณไม่มี input ที่ดี คุณจะไม่สามารถรักษาไว้ซึ่ง output ที่ดีได้เช่นกัน
Input และ Output คืออะไร?
Input คือ การรับรู้ข้อมูลต่างๆ โดยการอ่าน การฟัง เพื่อให้ซึมซับเข้าไปในสมอง
Output คือ การกลั่น input จากสมองมาลงมือทำในโลกแห่งความจริง โดยการเขียน การพูด และการปฏิบัติแต่การที่มี Input เยอะ ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมีคุณภาพเสมอไป เราจึงต้องมีการรับรู้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะนำไปสู่การใช้ Output ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ input และ output จาก ชิออน คาบาซาวะ ผู้เขียนหนังสือ The Power of Output คือ 3:7 ในการอ่านหนังสือ หลายคนเน้นอ่านจำนวนมากๆ เพราะคิดว่าจะได้รับความรู้มากตามจำนวนที่อ่าน แต่ความจริงแล้ว เราจะจำเนื้อหาของหนังสือได้ดีที่สุดแค่ในช่วง 5 นาทีแรก และ 5 นาทีสุดท้ายของการอ่านเท่านั้น ฉะนั้น การที่จะอ่านให้มีประสิทธิภาพ หรือการรับ Input ที่ดี คือ ต้องอ่านแล้วเอาไปลงมือทำทันที หรือหากยังลงมือทำไม่ได้ก็ลองฝึกอธิบายเนื้อหาของหนังสือด้วยการเขียน หรือพูดกับเพื่อนเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านให้ได้ ซึ่งก็คือ Output เหมือนกัน จะทำให้จำเนื้อหาหรือรับ input ได้ดียิ่งขึ้น
การสร้าง Output ดีและมีประโยชน์อย่างไร?
- สร้างความจำระยะยาวให้กับสมอง
- ได้พัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น
- เกิดผลสำเร็จอย่างชัดเจน
- ได้ดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมา
- สร้างความเปลี่ยนแปลงโลกในความเป็นจริงได้
สำหรับคนที่อยู่ในวัยทำงาน การคัดกรอง Input ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะในหนึ่งวันมี Input วิ่งเข้าหาเราตั้งมากมาย ทั้งเรื่องที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจรับเข้ามา บางคนชอบรับ input ในแง่ลบมากเกินไป เช่น เรื่องข่าวเชิงลบ, เนื้อหาทางโซเชียลที่มีแต่อารมณ์ ฯลฯ ทำให้เกิดความกลัว กังวล หรือลังเล สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพิษทางจิตใจ วิธีการเลือกรับที่ดีจึงควรมีการหาความจริงในแง่ของเหตุผลมารองรับ หรือทำใจเตือนตัวเองเสมอว่า รู้แล้วได้อะไร?, รู้แล้วเอาไปใช้อะไรต่อได้? และควรเลือก Input ที่มีคุณภาพในแต่ละวันให้มากที่สุด
ตัวอย่างเช่น เลือก Input ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น งาน, ครอบครัว และสุขภาพ เป็นพื้นฐานหรือ Input ที่เป็นประโยชน์ในการเติบโตในทางการงานและการเงิน เช่น อ่านหนังสือ, การท่องเที่ยว, การลงทุน, การเงิน, การเรียนรู้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยหล่อหลอมให้ เกิดการลงมือทำใหม่ๆ และเห็นโอกาสได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับคนวัยทำงาน วิธีที่จะผลิต Output ให้มีประสิทธิภาพจากการคัดกรอง Input ให้มีประโยชน์กับชีวิตต่อไปนั้น มีตัวอย่างดังนี้
1. ลองเรียนรู้ความไม่ perfect ของตัวเองเพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงต่อไป เช่น ถ้ารู้ว่าไม่ถนัดภาษา ก็หาคอร์สเรียนภาษาเพิ่ม เพื่อจะได้มีทักษะภาษาที่ดีขึ้น และยังได้เพิ่มโอกาสให้กับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกด้วย
2. พยายามบอกเล่าความรู้จากการอ่านหนังสือ หรือประสบการณ์จากการท่องเที่ยวให้คนรอบตัวได้ฟัง เพราะเป็นการทบทวนความรู้และเรื่องราวที่ได้เจอมา ซึ่งกระบวนการคิดและการถ่ายทอดนี้เองจะช่วยพัฒนาตัวเองไปสู่ความสำเร็จอื่นๆ ได้
“การสะสมความรู้โดย Input เยอะๆ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพกับชีวิตคุณได้ แต่ควรโฟกัสที่การผลิต Output ให้ได้เยอะมากกว่า เพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองตามเป้าหมายได้สำเร็จ”
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งในเทคนิค ที่คนทำงานเก่งๆ ค่าตัวแพงๆ หาตัวจับยาก ทำกันจนเป็นนิสัย ทุกอย่างมักมีเบื้องหลังเสมอ ลองเลือกทำเบื้องหลังให้ดี เลือกรับแต่สิ่งดีๆ และผลิตผลงานดีๆ ออกมาเชื่อเถอะว่าชีวิตคุณจะสุขสำเร็จในหน้าที่การงานแน่นอน ฟันธง!!